นโยบายผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลก

  • warning: Creating default object from empty value in /home/thaiorga/domains/thaiorganictrade.com/public_html/sites/all/modules/openwebmini/openoai/ioai/ioai.module on line 591.
  • strict warning: Non-static method flag_flag::factory_by_row() should not be called statically in /home/thaiorga/domains/thaiorganictrade.com/public_html/sites/all/modules/contrib/flag/flag.module on line 1424.
หลายปีที่ผ่านมาผู้คนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลอันตรายจาก DKI ใช้สารเคมี ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์กลายเป็นเทรนด์ของโลก ส่งผลให้ภาครัฐมุ่งผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น ภาครัฐหนุนเกษตรอินทรีย์ไทย ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของโลก โดยที่ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวม และมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและบริโภค โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญของการผลิตเกษตรอินทรีย์ 4 ด้านที่สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM: International of Organic Agriculture Movement) ได้กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านนิเวศวิทยา ด้านความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค และด้านการดูแลเอาใจใส่เรื่องการบริหารจัดการ นอกจากนี้ได้ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564” ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือ 1. ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2. พัฒนาการผลิตสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ 3. พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ 4. การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการ ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รับลูกต่อในส่วนของการขับเคลื่อนด้านการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปี 2560-2564 เพื่อให้สินค้าอินทรีย์ของไทยได้พัฒนารูปแบบและเชื่อมโยงสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสากลมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1. สร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้คนได้รู้ถึงคุณค่าของการบริโภคอาหารอินทรีย์ว่า นอกจากดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย 2. ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ ยกระดับของไทยให้ได้มาตรฐานสากล อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง 3. พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ มุ่งหวังสู่การเพิ่มช่องทางการตลาด เพราะถ้ายิ่งขยายตลาดก็จะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง และทำให้คนนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น 4. พัฒนาสร้างมูลค่าสินค้าและบริการอินทรีย์ ด้วยการแปรรูปและใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น พัฒนาข้าวให้เป็นอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง อันจะทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่า เมื่อผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้และหันมาบริโภคสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้น มูลค่าตลาดสินค้าอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลให้เกษตรกรหันมาให้ความสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น หวังเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดโลก จากแนวโน้มกระแสความนิยมในเรื่องสินค้าและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2.95 ล้านล้านบาท โดยที่มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 20 ต่อปี สำหรับพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีประมาณ 318 ไร่ ขยายตัวเฉลี่ยในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 2 ซึ่งในส่วนตลาดสำคัญในโลก ได้แก่ 1. สหรัฐ
อเมริกาและแคนาดา มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. ยุโรป มูลค่าประมาณ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 3. โซนอื่นๆ เช่น เอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณ 8 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด แต่มีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 99.8 ไทยมีมูลค่าตลาดภายในประเทศประมาณ 2,730 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกประมาณ 1 พันล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ทางภาครัฐของไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 6 แสนไร่ภายในปี 2564 และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศและตลาด
ส่งออกเป็น 40 ต่อ 60 ทั้งนี้แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของประชากรโลก แต่สิ่งที่ต้องเร่งผลักดันกันคือเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อการส่งออกต่อไป ส่งออกตลาดโลกต้องมีมาตรฐานรองรับ ****** ด้านนายพีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลตั้งแต่ปี 2543 ได้แนะนำเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์เอาไว้ว่า ในขั้นแรกคือการตรวจสอบภายใน จากนั้นในขั้นที่ 2 คือการรับรองคุณภาพแบบกลุ่ม หรือ PGS ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเอง และขั้นสุดท้าย คือการรับรองมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีองค์กรนานาชาติเข้ามาตรวจสอบและรับรอง ทำให้สามารถส่งสินค้าออกไปได้กว้างมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ เกษตรกร จะต้องค่อยๆ ขยับไปทีละขั้น โดยขณะนี้ทางยุโรปกำลังให้ความสำคัญ คือมาตรฐานที่เรียกว่า IFOAM Family of Standard ของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ สำหรับในประเทศไทย สามารถไปขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ที่สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ โดยสามารถตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้ง IFOAM สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และ มกท. นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน รวมถึงการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าของอาเซียนขึ้น อันจะสร้างการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นผลดีในการส่งสินค้าสู่ตลาดโลกได้ จากการสำรวจข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน พบว่าพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 235,523.35 ไร่ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 284,918.44 ไร่ในปี พ.ศ. 2558 (เพิ่มขึ้น 20.97%) ในส่วนของจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ขยับเพิ่มขึ้นจาก 9,961 ฟาร์มในปี พ.ศ. 2557 เป็น 13,154 ฟาร์ม ในปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั้น คงต้องได้การยอมรับและความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล จะได้มีการพัฒนาช่องทางการตลาดให้มีจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้เติบโตได้ในตลาดโลก ที่สุดแล้วก็จะเกิดประโยชน์ทางตรงต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในด้านสุขภาพ ที่สำคัญคือการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ****** นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ “เกษตรอินทรีย์ของไทยมีศักยภาพสูง เพราะมีความหลากหลาย มีจำนวนเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์และผู้ประกอบการหันมาทำสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพานิชย์จึงได้มีแผนที่จะผลักดันการค้าสินค้าอินทรย์ให้ขยายออกไป โดยหวังให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของภูมิภาคอาเซียน” ****** Mr. Markus Reetz Executive Director of Nurnberg Messe GmbH ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ “คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในตลาดอินทรีย์ มองเรื่องตลาดที่มีมูลค่า อาจแตกต่างจากคนรุ่นบุกเบิกที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลก และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จึงต้องรู้ว่ามาเริ่มต้นมาจากอะไร ต้องไม่ให้พลังด้านการค้ามาทำให้แนวคิดของการทำเกษตรอินทรีย์หลุดลอยจากจุดเริ่มต้น”