น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในยุโรป ทำการศึกษาแนวโน้มการบริโภคอาหารของชาวยุโรป 28 ประเทศว่ามีพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างไร เพื่อที่จะได้มาจัดทำแผนในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดยุโรป โดยเบื้องต้นพบว่าพฤติกรรมการบริโภคส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากการที่ยุโรปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ พฤติกรรมการบริโภคจะนิยมอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิค อาหารที่ได้รับ Fair Trade กลุ่มมังสวิรัติ/วีแกน และ Gluten Free เช่น ผัก ผลไม้อินทรีย์ ข้าวและมันประเภทต่างๆ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว เช่น ข้าวโอ๊ต คีนัว Linsen อัลมอนด์ ถั่วดำ ส่วนข้าวสีต่างๆ เช่น Brown rice Red rice รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้แทนเนื้อสัตว์ เช่น เต้าหู้ โปรตีนจากข้าวสาลี (Seitan) โปรตีนจากถั่วเหลือง ทอดมันผัก ทอดมันธัญพืช เนื้อเทียมที่ทำจากพืชต่างๆ เนื้อเทียมที่ทำจากผักแห้งและนม เช่น Valess ผลิตภัณฑ์จาก Lupins (พืชตระกูลถั่ว) Tempeh ไส้กรอกจากเห็ด และล่าสุดยังมีเทรนด์ใหม่ คือ ขนุนและหัวปลี ที่นำมาทดแทนเนื้อสัตว์ในการปรุงอาหารหลากหลายเมนู และ Dairy Products หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ส่วนกลุ่มประเทศนอร์ดิคส์ หรือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียหรือยุโรปเหนือ ประกอบไปด้วยเดนมาร์ค สวีเดน ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ จะมีพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร คล้ายกันกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปกลาง เช่น สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย โรมาเนีย บัลแกเรีย เป็นต้น พฤติกรรมในการบริโภคเริ่มมองหาสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น จากการที่กำลังซื้อสูงขึ้น โดยคนชั้นกลางจะให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหารมากกว่าราคา และเน้นการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งออร์แกนิค มังสวิรัติ วีแกน และ Gluten Free และมีอาหารประเภท Exotic Food เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับรัสเซีย และ CIS พฤติกรรมผู้บริโภคนิยมซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเองที่บ้าน ยกเว้นคนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้ออาหารพร้อมรับประทาน โดยคนรัสเซียเจอวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2557-59 ทำให้ต้องรัดเข็มขัด และรัฐบาลได้ตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยได้พัฒนาด้านเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร ทำให้มีอาหารราคาถูกกว่านำเข้า และปัจจุบันแม้เศรษฐกิจฟื้นตัว ผู้บริโภคก็ยังประหยัดอยู่ แต่ก็มีชาวรัสเซียส่วนหนึ่งที่มีรายได้สูง ได้นิยมสินค้าคุณภาพดีและให้ความสำคัญกับสุขภาพ สินค้าที่ตอบสนองได้จึงเป็นสินค้านำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสินค้าไทยมีโอกาสมาก ทั้งสินค้าที่ป้อนเข้าสู่ตลาดทำอาหาร ทั้งเครื่องปรุงรส ซอส และของทานเล่น แต่ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บถนอมอาหารได้เป็นเวลานานหรือมีอายุบนชั้นวางจำหน่ายเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้องใช้เวลาขนส่งและออกของประมาณ 2 เดือน น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า ในด้านการบริโภคอาหารไทย พบว่าชาวยุโรปนิยมมาท่องเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความนิยมและคุ้นเคยกับอาหารไทย เมื่อกลับไปประเทศก็มักจะไปบริโภคอาหารไทยในร้านอาหารไทยที่มีอยู่ หรือซื้ออาหารไทยที่วางขายในไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านเอเชีย ที่จำหน่ายสินค้าจากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย โดยสินค้าไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำจิ้มไก่และซอสผัดขี้เมา น้ำพริกเครื่องแกง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ในยุโรปยังมีการจัดงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติขนาดใหญ่ 2 งาน คือ งาน Anuga Food Fair และงาน SIAL ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาหารจากทั่วโลกรวมทั้งไทย จึงทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างสำหรับผู้นำเข้าจากยุโรปโดยเฉพาะ ข้าวไทยทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวสีต่างๆ เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรส เครื่องแกง อาหารทะเล Snack ผลไม้อบแห้ง รวมทั้งผลไม้ไทยที่นิยมมาก คือ มะม่วงและมะพร้าว ส่วนสินค้าอาหารประเภท Ready to Eat และ Ready to Cook ที่กำลังเป็นทางเลือกของอาหารที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ปัจจุบันประชากรในวัยทำงานไม่มีเวลาในการประกอบอาหารด้วยตนเอง จึงต้องพึ่งอาหารประเภทพร้อมรับประทานมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการขยายตลาดไปยังตลาดยุโรปให้มากยิ่งขี้น --อินโฟเควสท์
Publish on: 11/01/2019