วันที่: 06/11/2018
“พาณิชย์”เผยสหภาพยุโรปออกประกาศสินค้าเกษตรอินทรีย์ฉบับใหม่ กำหนดวัตถุดิบและสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ในการผลิต การปิดป้ายฉลากสินค้า และเงื่อนไขการนำเข้าและการวางจำหน่าย โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 เป็นต้นไป แนะผู้ที่ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปตลาดสหภาพยุโรปจะต้องศึกษา และเตรียมพร้อมรับมือ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศระเบียบ Regulation (EU) 2018/848 เกี่ยวกับการผลิตและการติดป้ายฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรป เพื่อทดแทนระเบียบเดิมโดยปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ชัดเจน และเหมาะสมกับสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น โดยระเบียบใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป
สำหรับกฎระเบียบฉบับใหม่ครอบคลุมข้อกำหนดต่างๆ ได้แก่
1.การผลิต โดยการกำหนดวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ปกป้องพืชที่อนุญาตให้ใช้ได้ในกระบวนการผลิต การป้องกันและระมัดระวังตลอดช่วงการผลิต การกระจายสินค้า และการกำหนดให้แบ่งแยกพื้นที่การผลิตอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่การผลิตที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ และยังได้ระบุการห้ามใช้สินค้าที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ตลอดกระบวนการผลิตทั้งหมด
2.การติดป้ายฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะต้องระบุข้อมูลน้ำหนักของส่วนประกอบที่เป็นเกษตรอินทรีย์ โดยต้องมีสัดส่วนของเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของสินค้า และหากมีการแสดงตราสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรปบนป้ายฉลาก ให้ผู้ผลิตสามารถระบุชื่อประเทศที่ผลิตแทนการระบุ “EU” หรือ “Non-EU” ได้
3.การนำเข้าและวางจำหน่ายสินค้าจากประเทศที่สาม กำหนดให้สินค้าต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากองค์กร หรือหน่วยงานตรวจสอบรับรองระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ (equivalene) จากสหภาพยุโรป หรือองค์กร หน่วยงานตรวจสอบรับรองของประเทศที่สามที่มีความตกลงยอมรับความเท่าเทียมซึ่งกันและกันกับสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศที่มีความตกลงยอมรับความเท่าเทียมฯ ดังกล่าว ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา คอสตาริกา ญี่ปุ่น อินเดีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ตูนีเชีย และสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยอยู่ระหว่างขอให้สหภาพยุโรปตกลงยอมรับความเท่าเทียมในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย
“กรมฯ ขอให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ให้ติดตามความคืบหน้าของกฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างใกล้ชิด และศึกษารายละเอียดของกฎระเบียบ เพื่อที่จะได้เตรียมปรับตัวทั้งการผลิตและการส่งออกให้สอดคล้องกับระเบียบ”นายอดุลย์กล่าว